สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นพพร วายุโชติ ความในใจของผู้นำเข้าไก่ไข่เบอร์ 2

จากประชาชาติธุรกิจ

สัมภาษณ์




หลัง จากที่ ครม.มีมติให้เปิดเสรีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (P.S.) เพื่อยุติการ "ผูกขาด" การนำเข้าด้วยการอาศัยกลไกการบริหารของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่ และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ลงแล้ว กลุ่มผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่เดิมทั้ง 9 ราย ต่างปรับตัวรองรับการเปิดเสรี ทันทีเครือเบทาโกร ในนาม บจก.อาหาร เบทเทอร์ ผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ เป็นอันดับ 2 ด้วยปริมาณจัดสรร 60,480 ตัว มีมุมมองการเปิดเสรีครั้งนี้อย่างไร ? "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ นายนพพร วายุโชติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการพัฒนาธุรกิจ เครือเบทาโกร

- ความหมายของโควตานำเข้า P.S.

ความ จริงไม่มีข้อบังคับทางกฎหมาย ให้ยื่นขออนุญาตนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (P.S.) นโยบายปฎิบัติที่ผ่านมา เกิดจาก มติข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาคเอกชน และรัฐว่า ควรกำหนดปริมาณการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมสอดคล้องกับความ ต้องการของตลาด โดยกรมปศุสัตว์ ทำหน้าที่มอนิเตอร์ว่า มีใครนำเข้าพันธุ์ไก่ไข่มาแล้วเท่าไหร่ เพื่อแก้ไขปัญหาไข่ไก่อย่างเป็นระบบ โดยสร้างข้อตกลงร่วมกันขึ้นมา แต่บังเอิญ ข้อตกลงดังกล่าว ถูกนำมาใช้นานเกินไปหน่อย ประกอบกับสถานการณ์เปลี่ยน ปรับตัวกันไม่ทัน ทำให้ไข่ไก่มีราคาแพงขึ้นมาช่วงหนึ่ง

- ปรับตัวไม่ทันหรือนำเข้ามาน้อยเกินไป

นำ เข้าพ่อแม่พันธุ์มาน้อยเกินไปอย่างหนึ่ง ประกอบกับเศรษฐกิจฟื้นตัว ดีมานด์ปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ในปริมาณเท่าเดิมอยู่ (ปีละไม่เกิน 400,921 ตัว เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี)

- การเปิดเสรีทำให้ธุรกิจไข่ไก่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ผม คิดว่า มีแนวโน้มนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ สูงกว่าปริมาณความต้องการของตลาดอยู่แล้ว ความจริงธุรกิจไก่ไข่หากผลิตสูงขึ้นแค่ 2-3% เท่านั้นก็สร้างปัญหาได้แล้ว เพราะ ไข่เป็นสินค้าที่มีอายุสั้น เก็บไว้ไม่ได้นาน เนื่องจากเมืองไทยยังขาดแคลนห้องเย็นสำหรับเก็บรักษาคุณภาพไข่ไก่ เมืองไทยผลิตไข่ไก่ได้เฉลี่ยวันละ 300 ล้านฟอง หากเก็บไว้ในโกดังทั่วไป เจออากาศร้อนเพียงแค่ 4-5 วัน ไข่ก็เน่าเสียหมดแล้ว ดังนั้นหากไข่ไก่มีผลผลิต ล้นตลาดเพียงเล็กน้อย ราคาก็ปรับตัวลดลงทันที เหมือนกับน้ำล้นแก้ว แค่มีน้ำเพียงหยดเดียวก็ล้นแล้ว เมื่อเกิดปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด ก็จะตกเป็นภาระของทุกฝ่าย

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ไข่ไก่มีราคาดี คนก็อยากเข้ามาเลี้ยงไก่ไข่เยอะ เมื่อเปิดเสรีนำเข้าก็ทำให้หลายรายสนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจไก่ไข่มากขึ้น สำหรับช่วงครึ่งปีแรก ความจริงควรนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่แค่ 50% ของสัดส่วน โควตานำเข้าทั้งหมด แต่ในทางปฏิบัติ พบว่ามีตัวเลขการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่กว่า 70% สูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้มาก ทำให้ช่วงปลายปีนี้ มีปริมาณไข่ไก่ จะเข้าสู่ตลาดเยอะขึ้นและมีแนวโน้ม เกิดปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดแน่นอน

ดัง นั้นเมื่อเปิดเสรีแล้ว รัฐบาลก็ควร สร้างกลไกตลาดเข้ามารองรับ ผมว่าการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรไม่ใช่เรื่องยาก เพราะรัฐบาลก็มีประสบการณ์จากการแก้ไขปัญหาอ้อย น้ำตาลและ ข้าวมาแล้ว รู้ว่าจะจัดการกับปัญหาได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นรัฐบาลจะต้องเตรียมตัวรับมือกับม็อบไข่ไก่หน้าทำเนียบแน่ ๆ

ตอนนี้ผมว่ายังไม่สายที่จะวางแผน แก้ไขปัญหา เพราะเพิ่งเปิดเสรีนำเข้า พ่อแม่พันธุ์มาได้ไม่นาน ยังมีระยะเวลาอีกปีกว่า ๆ สำหรับการเตรียมแผนรับมือ หากนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่เข้ามาในวันนี้ มาผลิตลูกไก่ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี กว่าจะให้ผลผลิตอย่างเต็มที่

- วิธีที่ดีที่สุดในการจัดระบบธุรกิจไก่ไข่ มี 2 แนวทาง

1) หากเลี้ยงไก่ไข่เพื่อการบริโภคแบบเดิม ๆ โดยมีแม่ไก่ยืนกรงประมาณ 30 ล้านตัว การจดทะเบียนฟาร์มจำเป็น ต้องมี เพื่อจะตรวจสอบกำลังการผลิตที่มีอยู่ว่า สอดคล้องกับดีมานด์หรือไม่

2) หากเกษตรกรต้องการปรับเพิ่มหรือลดกำลังผลิตไข่ไก่ได้ตลอด แค่มาแจ้งจดทะเบียนเพิ่มเติม คณะกรรมการ นโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) จำเป็นต้องมีต่อไป เพื่อทำหน้าที่ดูแลควบคุมหรือมอนิเตอร์ธุรกิจไก่ไข่ สร้างกลไกควบคุมป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด ในต่างประเทศจะจัดตั้งกองทุนเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาราคาสินค้า ทุกคนที่ผลิตลูกไก่ไข่ หรือเลี้ยงไก่ไข่ จะต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินจัดตั้งกองทุนแห่งนี้ เพื่อนำเงินจากกองทุนนี้ไปจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปหรืออุดหนุนการส่ง ออกไข่ไก่

ยกตัวอย่างเช่น หลายประเทศนิยมดัมพ์ไข่ไก่ราคาถูกไปขายใน ฮ่องกง เยอรมนี ก็มีกองทุนอุดหนุนการส่งออกไข่ไก่ส่วนเกิน ไปขายในประเทศฮ่องกง ในราคาถูกเพียงฟองละ 1.50 บาทเท่านั้น ขณะที่ไข่ไก่ไทยขายฟองละ 2.50 บาท ดังนั้นหากไทยจะ ส่งออกไข่ไก่ส่วนเกิน ไปขายในตลาด ต่างประเทศ ก็จำเป็นต้องขายในราคาเท่ากับคู่แข่งหรือถูกกว่า การแก้ไขปัญหา หากไม่มีเงินก็ทำอะไรไม่ได้และไม่ยุติธรรม หากจะนำเงินภาษีประชาชนมาแก้ไขปัญหาไข่ไก่ ที่ถูกต้องคือ ใช้เงินของคนในอุตสาหกรรมไก่ไข่ ใครลงทุนมากก็ควร จ่ายเงินมาก ใครลงทุนน้อยก็จ่ายเงินน้อย ผมคิดว่า กองทุนไข่ไก่ จะมีประโยชน์ที่จะคอยจัดการแก้ไขปัญหาราคา

- มองการค้าเสรีเป็นอย่างไร

อุตสาหกรรม ไก่ไข่ต้องมีการดูแล การนำเข้า/ส่งออก ควรจะมีการมอนิเตอร์กันตลอดเวลา ไม่ใช่ยืนนโยบายแบบเดิมตลอด 3 ปี ไม่ยอมเพิ่มปริมาณการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ จนกลายเป็นปัญหาขึ้นมา ปีหน้าหากต้องการกำหนดปริมาณนำเข้า เท่าไหร่ ควรคิดกันไว้ล่วงหน้าเลย หากใครคิดจะขยายกำลังผลิตให้แจ้งมา หากคุณเลี้ยงเกิน 500,000 ตัว คุณไม่มีสิทธิ์แล้ว ควรเปิดโอกาสให้คนอื่นเติบโตบ้าง

ระบบการค้าไก่ไข่ที่เป็นเสรีแบบ นี้ สุดท้ายเหลือแต่รายใหญ่ แต่รายเล็ก ตายหมด เพราะไม่รอดอยู่แล้ว เมื่อไหร่ขาดทุนมารอบหนึ่ง รายเล็กไป รายใหญ่ อยู่ ขาดทุนอีกรอบ รายเล็กไป รายใหญ่ อยู่ได้ ก็จะเหลือรายใหญ่อยู่ไม่กี่รายเท่านั้นเอง เพราะรายใหญ่ต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่ ถูกกว่าอยู่แล้ว โดยเฉพาะรายใหญ่ที่มีกิจการครบวงจรตั้งแต่ ผลิตลูกไก่-ไก่สาว และมีโรงงานอาหารสัตว์ ก็ยิ่งได้เปรียบกว่า ส่วนฟาร์มขนาดใหญ่ที่สามารถต่อรอง ซื้ออาหารสัตว์ได้ ก็จะมีต้นทุนอาหารสัตว์ ถูกกว่าเกษตรกรรายย่อย

ความจริง ระบบโควตานำเข้าพ่อแม่ ไก่ไข่ ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ไม่ควร fix ปริมาณการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ไว้ 3 ปี หากปล่อยให้การปรับสัดส่วนให้สอดคล้องกับการเติบโตของตลาด กลไกนี้ก็ยังสามารถใช้งานได้อีก แต่ระบบบริหาร ที่ผิดพลาดของ Egg Board ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ทำให้รายใหม่ที่อยากเข้าสู่อุตสาหกรรมไก่ไข่ไม่สามารถเข้ามาได้ หากสามารถแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ได้ Egg Board ก็สามารถบริหารจัดการอุตสาหกรรมไก่ไข่ได้

ที่ผ่านมา Egg Board ก็บริหารงาน โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว การมีข้าราชการจำนวนมาก เข้ามาเป็นกรรมการ แต่กลับไม่มี action อะไรเลย จึงควรปรับปรุงโครงสร้าง Egg Board ใหม่ อย่าเอาตำแหน่งข้าราชการมาใส่เยอะแยะ แล้วไม่ได้ทำอะไรเลย มันไม่มีประโยชน์

- เบทาโกรจะนำเข้าพ่อแม่ไก่ไข่เพิ่มขึ้นหรือไม่

ที่ผ่าน มา เราผลิตลูกไก่สัปดาห์ละ 120,000 ตัว ตอนนี้ผลิตสัปดาห์ละ 60,000 ตัว ต่อไปเราก็จะกลับไปผลิตในสัดส่วนเท่าเดิมก่อน ในทางการทำธุรกิจ เราก็อยากเพิ่มปริมาณการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ แต่ต้องรอดูสถานการณ์ตลาดก่อนสักระยะหนึ่ง เพราะหากเพิ่มปริมาณนำเข้า ก็ต้องไปขยายพัฒนาฟาร์มก่อนด้วย 1- 2 ปีนี้ เรายังไม่นำเข้าปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่อย่างแน่นอน เราไม่ตัดสินใจขยายการลงทุนอย่างหวือหวา แต่เรามีปรัชญาการบริหารงานว่า หากจะขยายลงทุนใดก็ ตาม จะต้องไม่สร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและลูกเล้าของเรา เพราะเบทาโกรไม่ต้องการโตคนเดียว แต่ต้องการเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตร ที่เป็นซัพพลายเชน หากคนในอุตสาหกรรมไก่ไข่ไม่มีความรับผิดชอบ อยากโตเอา โตเอา คนอื่นก็อยู่ไม่ได้

ผมห่วงเกษตรกรรายย่อย แทนที่จะ อยู่ได้ อาชีพก็จะหมดไป ภาครัฐจะต้องดูแลเกษตรกร เกษตรกรรายใหญ่ ๆ รวมกันทั้งหมด 10- 30 เจ้า คิดเป็น 70-80% ของระบบ ที่เหลือเป็นรายย่อย 2,000 กว่าราย ควรจะให้พวกเขามีอาชีพ มีงานทำบ้าง มิฉะนั้นจะตายกันหมด กรณีที่มีผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่มากขึ้น อีกหน่อยลูกไก่ก็ล้นตลาด ราคาลูกไก่ก็จะถูกลง แต่คิดเป็นซัพพลายเชนแล้ว มีสัดส่วน นิดเดียว เมื่อเทียบกับค่าอาหารสัตว์และไข่

- สนใจลงทุนทำโรงงานไข่ผงหรือไม่

เรา ยังไม่ได้คิด เพราะโรงงานไข่ผงมันต้องมีไซด์พอสมควร ปริมาณความต้องการไข่ผงในเมืองไทยยังไม่ใหญ่มาก ส่วนใหญ่ใช้ในโรงงานผลิตเบเกอรี่และบะหมี่ ตลาดขนมปังเมืองไทยเล็กกว่าเวียดนามเสียอีก ปัจจุบันสหรัฐมีโรงงานไข่ผงมาก เพราะ ต้นทุนไข่ไก่ต่ำกว่าไทย ไม่ถึงฟองละ 2 บาท ขณะที่ไข่ไทยต้นทุนสูงฟองละ 2.50 บาท

- แผนการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง

เบ ทาโกรจะมีโรงงานใส้กรอก ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนกับอิโตแฮม ซึ่งเป็นผู้ค้า รายใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น ขณะนี้ตัวโรงงานได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว สามารถ เดินเครื่องผลิตได้แล้ว และจะเริ่มวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไส้กรอกแบบสับหยาบภายในแบรนด์ของอิโตแฮม

Tags : นพพร วายุโชติ ความในใจ ผู้นำเข้าไก่ไข่ เบอร์ 2

view